ทดสอบก่อนเรียน
บทที่ 1 การฟัง การดู
บทที่ 2 การพูด
บทที่ 3 การอ่าน
บทที่ 4 การเขียน
บทที่ 5 หลักการใช้ภาษา
1 of 2

หลักการเขียน

หลักการเขียนที่ดี

1. เขียนตัวหนังสือชัดเจน อ่านง่าย เป็นระเบียบ

2. เขียนได้ถูกต้องตามอักขรวิธี สะกดการันต์ วรรณยุกต์ วางรูปเครื่องหมายต่างๆ เว้นวรรคตอนได้ถูกต้อง เพื่อจะสื่อความหมายได้ตรงและชัดเจน ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสารได้ดี

3. เลือกใช้ถ้อยคำได้เหมาะสม สื่อความหมายได้ดี กะทัดรัด ชัดเจนเหมาะสมกับเนื้อหา เพศ วัย และระดับของผู้อ่าน

4. เลือกใช้สำนวนภาษาได้ไพเราะ เหมาะสมกับความรู้ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ที่ต้องการถ่ายทอด

5. ใช้ภาษาเขียนไม่ควรใช้ภาษาพูด ภาษาโฆษณาหรือภาษาที่ไม่ได้มาตรฐาน

6. เขียนได้ถูกต้องตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของงานเขียนแต่ละประเภท

7. เขียนในสิ่งสร้างสรรค์ ไม่เขียนในสิ่งที่จะสร้างความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้แก่บุคคลและสังคม

การที่จะสื่อสารด้วยการเขียนได้ดี ผู้เขียนต้องมีความสามารถในด้านการใช้ภาษาและต้องปฏิบัติตามหลักการเขียนที่ดีมีมารยาท

การเขียนรูปแบบต่างๆ

รูปแบบการเขียน งานเขียนในภาษาไทยมี 2 รูปแบบคือ งานเขียนประเภท ร้อยกรองกับงานเขียนประเภทร้อยแก้ว ซึ่งผู้เรียนได้เคยศึกษามาบ้างแล้วในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในที่นี้จะพูดถึงงานเขียนประเภทร้อยแก้วที่ผู้เรียนจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การเขียนจดหมาย การเขียนเรียงความ การเขียนย่อความ การจดบันทึกและการเขียนแสดงความคิดเห็น และงานเขียนประเภทร้อยกรองบางประเภทเท่านั้น

การเขียนจดหมาย

การเขียนจดหมายเป็นวิธีการที่นิยมใช้เพื่อการสื่อสารแทนการพูด เมื่อผู้ส่งสารและผู้รับสารอยู่ห่างไกลกัน เพราะประหยัดค่าใช้จ่าย มีลายลักษณ์อักษรเป็นหลักฐานส่งถึงกันได้สะดวกทุกพื้นที่ จดหมายที่เขียนติดต่อกันมีหลายประเภทเป็นต้นว่า

จดหมายส่วนตัว เป็นจดหมายที่เขียนถึงกันระหว่างญาติมิตร หรือครูอาจารย์ เพื่อส่งข่าวคราว บอกกล่าวไต่ถามถึงความทุกข์สุข แสดงถึงความรัก ความปรารถนาดี ความระลึกถึงต่อกัน รวมทั้งการเล่าเรื่องหรือเหตุการณ์ที่สำคัญ การขอความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำซึ่งกันและกัน

จดหมายกิจธุระ เป็นจดหมายที่บุคคลเขียนติดต่อกับบุคคลอื่น บริษัท ห้างร้านและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อแจ้งกิจธุระ เป็นต้นว่า การนัดหมายขอสมัครงาน ขอความช่วยเหลือและขอคำปรึกษาเพื่อประโยชน์ในด้านการงานต่างๆ

การเขียนย่อความ

การย่อความ คือการนำเรื่องราวต่างๆ มาเขียนใหม่ด้วยสำนวนภาษาของผู้ย่อเอง เมื่อเขียนแล้วเนื้อความเดิมจะสั้นลง แต่ยังมีใจความสำคัญครบถ้วนสมบูรณ์ การย่อความนี้ ไม่มีขอบเขตว่าควรจะสั้นหรือยาวเท่าใดจึงจะเหมาะ เพราะบางเรื่องมีพลความมากก็ย่อลงไปได้มาก แต่บางเรื่องมีใจความสำคัญมาก ก็อาจย่อได้ 1 ใน 2 หรือ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ของเรื่องเดิมตามแต่ผู้ย่อจะเห็นสมควร

ใจความสำคัญ คือ ข้อความสำคัญในการพูดหรือการเขียน พลความ คือข้อความที่เป็นรายละเอียดนำมาขยายใจความสำคัญให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าตัดออกผู้ฟังหรือผู้อ่านก็ยังเข้าใจเรื่องนั้นได้

การเขียนบันทึก

การเขียนบันทึกเป็นวิธีการเรียนรู้และจดจำที่ดี นอกจากนี้ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ยังสามารถนำไปเป็นหลักฐานอ้างอิงเพื่อประโยชน์อื่นต่อไป เช่น

การจดบันทึกจาการฟัง

การบันทึกจากการฟังหรือการประสบพบเห็นด้วยตนเอง ย่อมก่อให้เกิดความรู้ ในที่นี้ใคร่ขอแนะนำวิธีจดบันทึกจากการฟังและจากประสบการณ์ตรง เพื่อผู้เรียนจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาด้วยตนเองได้วิธีหนึ่ง