ทดสอบก่อนเรียน
บทที่ 1 การฟัง การดู
บทที่ 2 การพูด
บทที่ 3 การอ่าน
บทที่ 4 การเขียน
บทที่ 5 หลักการใช้ภาษา
1 of 2

ธรรมชาติของภาษา

ความหมายของภาษา

ภาษา เป็นคำที่เรายืนมาจากภาษา สันสกฤต ถ้าแปลตามความหมายของคำศัพท์ภาษา แปลว่า ถ้อยคำหรือคำพูดที่ใช้พูดจากัน คำว่า ภาษา ตามรากศัพท์เดิมจึงมีความหมายแคบคือหมายถึงคำพูดแต่เพียงอย่างเดียว

ความหมายของภาษาตามความเข้าใจของคนทั่วไป เป็นความหมายที่กว้าง คือภาษา หมายถึง สื่อทุกชนิดที่สามารถทำความเข้าใจกันได้ เช่น ภาษาพูดใช้เสียงเป็นสื่อ ภาษาเขียนใช้ตัวอักษรเป็นสื่อ ภาษาใบ้ใช้กริยาท่าทางเป็นสื่อ ภาษาคนตาบอดใช้อักษรที่เป็นจุดนูนเป็นสื่อ ตลอดทั้ง แสง สี และอาณัติสัญญาณต่างๆ ล้วนเป็นภาษาตามความหมายนี้ทั้งสิ้น

ความหมายของภาษาตามหลักวิชา ภาษา หมายถึง สัญลักษณ์ที่มีระบบระเบียบและมีแบบแผน ทำให้คนเราสื่อความหมายกันได้ ภาษา ตามความหมายนี้จะต้องมี ส่วนประกอบสำคัญคือ จะต้องมี ระบบสัญลักษณ์ + ความหมาย + ระบบการสร้างคำ + ระบบไวยากรณ์ ในภาษาไทยเรามีระบบสัญลักษณ์ ก็คือ สระ พยัญชนะและวรรณยุกต์ ระบบการสร้างคำ ก็คือ การนำเอาพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์มาประกอบกันเป็นคำ เช่น พี่ น้อง พ่อ แม่ ฯลฯ ระบบไวยากรณ์ หรือเราเรียกว่า การสร้างประโยคคือการนำคำต่างๆ มาเรียงกันให้สัมพันธ์กันให้เกิดความหมายต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยใหญ่ขึ้น เมื่อนำส่วนประกอบต่างๆ สัมพันธ์กันแล้วจะทำให้เกิดความหมาย ภาษาต้องมีความหมาย ถ้าหากไม่มีความหมายก็ไม่เรียกว่าเป็นภาษา

ความสำคัญของภาษา

1. ภาษาเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร ที่มนุษย์ใช้สื่อความเข้าใจกัน ถ่ายทอดความรู้ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งกันและกัน

2. ภาษาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ความคิดและความเพลิดเพลิน

3. ภาษาเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพและการปกครอง โดยมีภาษากลางหรือภาษาราชการใช้ในการสื่อสารทำความเข้าใจกันได้ทั้งประเทศ ทั่วทุกภาค

4. ภาษาช่วยบันทึกถ่ายทอดและจรรโลงวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่ เราใช้ภาษาบันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคม ตลอดทั้งความคิด ความเชื่อไว้ให้คนรุ่นหลังได้ทราบและสืบต่ออย่างไม่ขาดสาย

เมื่อทราบว่าภาษามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์และมนุษย์ก็ใช้ภาษาเพื่อการดำเนินชีวิตประจำแต่เราก็มีความรู้เกี่ยวกับภาษากันไม่มากนัก จึงขอกล่าวถึงความรู้เกี่ยวกับภาษาให้ศึกษากันดังนี้

1. ภาษาใช้เสียงสื่อความหมาย ในการใช้เสียงเพื่อสื่อความหมายจะมี 2 ลักษณะ คือ

1.1 เสียงที่สัมพันธ์กับความหมาย หมายความว่าฟังเสียงแล้วเดาความหมายได้เสียงเหล่านี้มักจะเป็นเสียงที่เลียนเสียงธรรมชาติ เช่น ครืน เปรี้ยง โครม จักๆ หรือเลียน เสียงสัตว์ร้อง เช่น กา อึ่งอ่าง แพะ เจี๊ยบ ตุ๊กแก

1.2 เสียงที่ไม่สัมพันธ์กับความหมาย ในแต่ล่ะภาษาจะมีมากกว่าเสียงที่สัมพันธ์ กับความหมาย เพราะเสียงต่างๆ จะมีความหมายว่า อย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับข้อตกลงกันของคนที่ใช้ภาษานั้นๆ เช่น ในภาษาไทยกำหนดความหมายของเสียง กิน ว่านำของใส่ปากแล้วเคี้ยวกลืนลงคอ ภาษาอังกฤษใช้เสียง eat (อี๊ท) ในความหมายเดียวกันกับเสียงกิน

2. ภาษาจะเกิดจากการรวมกันของหน่วยเล็กๆ จนเป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้น

หน่วยในภาษา หมายถึง ส่วนประกอบของภาษาจะมีเสียงคำและประโยค ผู้ใช้ภาษาสามารถเพิ่มจำนวนคำ จำนวนประโยคขึ้นได้มากมาย เช่น ในภาษาไทยเรามีเสียงพยัญชนะ 21 เสียง เสียงสระ24 เสียง เสียงวรรณยุกต์ 5 เสียง ผู้เรียนลองคิดดูว่าเมื่อเรานำเสียงพยัญชนะ เสียงสระ เสียงวรรณยุกต์มาประกอบกันก็จะได้คำมากมาย นำคำมาเรียงต่อกันก็จะได้วลี และประโยค เราจะสร้างประโยคขึ้นได้มากมาย และหากเรานำประโยคที่สร้างขึ้นมาเรียงต่อกันโดยวิธีมารวมกัน มาซ้อนกันก็จะทำให้ได้ประโยคที่ยาวออกไปเรื่อยๆ

3. ภาษามีการเปลี่ยนแปลง สาเหตุของการเปลี่ยนแปลง

1. การพูดกันในชีวิตประจำวัน สาเหตุนี้อาจจะทำให้เกิดการกลมกลืนเสียง เช่น เสียงเดิมว่า

อย่างนี้ กลายเป็น อย่างงี้

มะม่วงอกพร่อง กลายเป็น มะม่วงอกร่อง

สามแสน กลายเป็น สามเสน

สู้จนเย็บตา กลายเป็น สู้จนยิบตา

2. อิทธิพลของภาษาอื่น จะเห็นภาษาอังกฤษมีอิทธิพลในภาษาไทยมากที่สุดอยู่ในขณะนี้ เช่น มาสาย มักจะใช้ว่ามาเลท(late)

คำทักทายว่า สวัสดี จะใช้ ฮัลโล (ทางโทรศัพท์) หรือเป็นอิทธิพลทางด้านสำนวน เช่น สำนวนที่นิยมพูดในปัจจุบัน ดังนี้

“ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น” น่าจะพูดว่า “ได้รับการต้อนรับอย่างดี” “จับไข้” น่าจะพูดว่า “เป็นไข้” นันทิดา แก้วบัวสาย จะมาในเพลง “เธอ” น่าจะพูดว่า นันทิดา แก้วบัวสาย จะมาร้องเพลง “เธอ”

3. ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เมื่อมีความเจริญขึ้น ของเก่าก็เลิกใช้ สิ่งใหม่ก็เข้ามาแทนที่ เช่น การหุงข้าวสมัยก่อนการดงข้าวแต่ปัจจุบันใช้หม้อหุงข้างไฟฟ้า คำว่า ดงข้าว ก็เลิกใช้ไปหรือบ้านเรือนสมัยก่อนจะใช้ไม้ไผ่ปูพื้นจะเรียกว่า “ฟาก” ปัจจุบันใช้กระเบื้อง ใช้ปูน ปูแทนคำว่าฟากก็เลิก

ใช้ไปนอกจากนี้ยังมีคำอีกพวกที่เรียกว่า คำแสลง เป็นคำที่มีอายุในการใช้สั้นๆ จะนิยมใช้เฉพาะวัยเฉพาะคนในแต่ละยุคสมัย เมื่อหมดสมัย หมดวัยนั้น คำเหล่านี้ก็เลิกใช้ไป เช่น กิ๊ก จ๊าบ

ตัวอย่างคำแสลง เช่น กระจอก กิ๊กก๊อก เจ๊าะแจ๊ะ ซ่า เว่อ จ๊าบ ฯลฯ

การยืมคำภาษาอื่นมาใช้ในภาษาไทย

ภาษาไทยของเรามีภาษาอื่นเข้ามาปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะเป็นธรรมชาติของภาษาที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้ความคิดของมนุษย์และภาษาเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถหยิบยืมกันได้โดยมีสาเหตุจากอิทธิพลทางภูมิศาสตร์ คือ มีเขตแดนติดต่อกันอิทธิพลทางประวัติศาสตร์ที่มีการอพยพถิ่นที่อยู่ หรือยู่ในเขตปกครองของประเทศอื่น อิทธิพลทางด้านศาสนาไทยเรามรการนับถือศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และอื่นๆ นอกจากนี้อิทธิพลทางการศึกษา การค้าขาย แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี จึงทำให้เรามีการยืมคำภาษาอื่นมาใช้เป็นจำนวนมาก เช่น

1. ภาษาบาลี สันสกฤต ไทยเรารับพุทธศาสนาลัทธิหายาน ซึ่งใช้ภาษาสันสกฤตเป็นเครื่องมือมาก่อนและต่อมาได้รับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์มาอีกซึ่งในภาษาบาลีเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ไทยจึงรับภาษาบาลีสันสกฤตเข้ามาใช้ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก เช่น กติกา กตเวทิตา กตัญญู เขต คณะ จารีต ญัตติ ทุจริต อารมณ์ โอวาท เกษียณ ทรมาน ภิกษุ ศาสดา สงเคราะห์ สัตว์ อุทิศ เป็นต้น

2. ภาษาจีน ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดทางด้านเชื้อชาติ ถิ่นที่อยู่การติดต่อค้าขาย ปัจจุบันมีคนจีนมากมายในประเทศไทยจึงมีการยืมและแลกเปลี่ยนภาษาซึ่งกันและกัน ภาษาจีนที่ไทยยืมมาใช้เป็นภาษาพูดไม่ใช่ภาษาเขียน คำที่เรายืมจากภาษาจีนมีมากมายตัวอย่างเช่น ก๋วยจั๊บ ขิม จับกัง เจ้ง ซวย ซีอิ้ว ตั๋ว ทู ่ชี้ บะหมี่ ห้าง ยี่ห้อ หวย บุ้งกี้ อั้งโล เกาเหลา แฮ่กึ้น เป็นต้น

3. ภาษาอังกฤษ ชาวอังกฤษ เข้ามาเกี่ยวข้องกับชาวไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา มีการคิดต่อค้าขาย และในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการยกเลิกอำนาจศาลกงสุลให้แก่ไทย และภาษาอังกฤษเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าเป็นภาษาสากลที่สามารถใช้สื่อสารกันได้ทั่วโลก ประเทศไทยมีการสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ประถมศึกษาจึงทำให้เรายืมคำภาษาอังกฤษมาใช้ในลักษณะคำทับศัพท์อย่างแพร่หลาย เช่น โฮเตล ลอตเตอรี่ เปอร์เซ็นต์ บ๋อย โน้ต กอล์ฟ ลิฟท์ สวิตช์ เบียร์ ชอล์ก เบรก ก๊อก เกม เช็ค แสตมป์ โบนัส เทคนิค เกรด ฟอร์ม แท็กซี่ โซดา ปั๊ม คอลัมน์ เป็นต้น และปัจจุบันยังมีภาษาอันเกิดจาการใช้คอมพิวเตอร์จำนวนหนึ่ง

4. ภาษาเขมร อาจด้วยสาเหตุความเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงและมีการติดต่อกันมาช้านานปะปนอยู่ในภาษาไทยบ้าง โดยเฉพาะราชาศัพท์และในวรรณคดีเช่น บังคัล กรรไตร สงบ เสวย เสด็จ ถนอม เป็นต้น

กิจกรรม

1. ให้ผู้เรียนสังเกตและรวบรวม คำภาษาไทยที่ยืมมาจากภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ และเราใช้กันในการพูดคุยและใช้ในการสื่อสารมวลชนแล้วบันทึกไว้ เพื่อนำไปใช้ในการรายงานและการสื่อสารต่อไป

2. แบ่งผู้เรียนเป็น 2-3 กลุ่ม ออกมาแข่งกันเขียนภาษาไทยแท้บนกระดาษกลุ่มละ15-20 คำ พร้อมกับบอกข้อสังเกตว่าเหตุผลใดจึงคิดว่าเป็นคำไทย