ทดสอบก่อนเรียน
บทที่ 1 การฟัง การดู
บทที่ 2 การพูด
บทที่ 3 การอ่าน
บทที่ 4 การเขียน
บทที่ 5 หลักการใช้ภาษา
1 of 2

วรรณกรรมท้องถิ่น

วรรณกรรมท้องถิ่น หมายถึง เรื่องราวของชาวบ้านที่เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนทั้งการพูดและการเขียนในรูปของ คติ ความเชื่อ และประเพณี การแสดงออกในการใช้ถ้อยคำที่มีหลากหลายรูปแบบ เช่น นิทานพื้นบ้าน เพลงกล่อมเด็ก ปริศนา คำทาย ภาษิต คำคม บทเทศน์ และคำกล่าวในพิธีกรรมต่างๆ

ลักษณะของวรรณกรรมท้องถิ่น

1. วรรณกรรมท้องถิ่น โดยทั่วไปมีวัดเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ กวีผู้ประพันธ์ส่วนมาก คือ พระภิกษุ และชาวบ้าน

2. ภาษาที่ใช้เป็นภาษาถิ่น ใช้ถ้อยคำสำนวนท้องถิ่นที่เรียบง่าย ชาวบ้านทั่วไปรู้เรื่องและใช้ฉันทลักษณ์ที่นิยมในท้องถิ่นนั้น เป็นสำคัญ

3. เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ มุ่งให้ความบันเทิง และสอดแทรกคติธรรมทางพุทธศาสนา

4. ยึดค่านิยมแนวปรัชญาพุทธศาสนา เช่น กฎแห่งกรรม หรือธรรมะย่อมชนะอธรรม เป็นต้น

ประเภทของวรรณกรรมท้องถิ่น

วรรณกรรมท้องถิ่น แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ประเภทมุขปาฐะ เป็นวรรณกรรมที่ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์ เป็นวรรณกรรมปากเปล่าจะถ่ายทอดโดยการบอก หรือการเล่าหรือการร้อง ได้แก่ บทกล่อมเด็ก นิทานพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย ภาษิต สำนวนโวหาร คำกล่าวในพิธีกรรมต่างๆ

2. ประเภทเขียนเป็นลายลักษณ์ ได้แก่ นิทาน คำกลอน บันทึกทางประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นและตำราความรู้ต่างๆ

คุณค่าของวรรณกรรมท้องถิ่น

1. คุณค่าต่อการอธิบายความเป็นมาของชุมชนและเผ่าพันธุ์

2. สะท้อนให้เห็นโลกทัศน์และค่านิยมต่างๆ ของแต่ละท้องถิ่น โดยผ่านทางวรรณกรรม

3. เป็นเครื่องมืออบรมสั่งสอนจริยธรรมของคนในสังคมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบันได้

4. เป็นแหล่งบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี และการดำเนินชีวิต ของคนในท้องถิ่น

5. ให้ความบันเทิงใจแก่ชุมชนทั้งประเภทที่เป็นวรรณกรรมและศิลปะการแสดง พื้นบ้าน เช่น หมอลำของภาคอีสาน การเล่นเพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว ของภาคกลาง การซอ การเล่าค่าวของภาคเหนือ การเล่นเพลงบอก ร้องมโนราห์ของภาคใต้ เป็นต้น

6. ก่อให้ความสามัคคีในท้องถิ่น เกิดความรักถิ่นและหวงแหนมาตุภูมิ

รูปแบบของวรรณกรรมท้องถิ่น

1. รูปแบบของวรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลาง

1.1 กลอนสวด หรือเรียกว่า คำพากย์ ได้แก่ กาพย์ยานี ฉบัง สุรางคนางค์

1.2 กลอนบทละคร (นอก) ใช้ฉันทลักษณ์เหมือนกลอนบทละครทั่วไปแต่ไม่เคร่งครัดจำนวนคำและแบบแผนมากนัก

1.3 กลอนนิทาน บทประพันธ์เป็นกลอนสุภาพ (กลอนแปด) เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมาก

1.4 กลอนแหล่ นิยมจดจำสืบต่อกันมาหรือด้นกลอนสด ไม่นิยมบันทึกเป็นลายลักษณ์

2. รูปแบบของวรรณกรรมท้องถิ่นภาคอีสาน

2.1 โคลงสาร เป็นฉันทลักษณ์ที่บังคับเสียงเอกโท ส่วนมากใช้ประพันธ์วรรณกรรมประเภทนิทาน นิยาย หรือนิทานคติธรรม

2.2 กาพย์หรือกาพย์เซิ้ง ประพันเป็นบทสั้นๆ สำหรับขับลำในพิธี เช่น เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งนางแมว ฯลฯ

2.3 ร่าย (ฮ่าย) ลักษณะเหมือนร่ายยาว ใช้ประพันธ์วรรณกรรมชาดก หรือนิทานคติธรรมที่ใช้เทศน์ เช่น มหาชาติ (ฉบับอีสานเรียกว่าลำมหาชาติ)

3. รูปแบบของวรรณกรรมท้องถิ่นภาคเหนือ

3.1 คำวธรรม ฉันทลักษณ์เหมือนร่ายยาวชำสำหรับเทศน์ นิยมประพันธ์วรรณกรรมประเภทนิทานชาดกหรือนิทานคติธรรม

3.2 คำวซอ คำประพันธ์ที่บังคับสัมผัสระหว่างวรรคและบังคับเสียงเอกโท นิยมแต่นิทานเป็นคำวซอแล้วนำมาขับลำในที่ประชุมชน ตามลีลาทำนองเสนาะของภาคเหนือ

3.3 โคลง ภาษาถิ่นเหนือออกเสียงเป็น “กะลง” เป็นฉันทลักษณ์ที่เจริญรุ่งเรือง ควบคู่กับ “ค่าวธรรม” มีทั้งกะลงสี่ห้อง สามห้อง และสองห้อง (โคลงสี่ โคลงสาม และ โคลงสอง)

4. รูปแบบของวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้

วรรณกรรมพื้นบ้านภาคใต้ฉันทลักษณ์ร่วมกับวรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลาง แต่จากการศึกษาความนิยมเรื่องฉันทลักษณ์ของวรรณกรรมภาคใต้ พบว่านิยม “กลอนสวด” (คำกาพย์) มากที่สุด วรรณกรรมลายลักษณ์ภาคใต้เกินร้อยละ 80 ประพันธ์เป็นกลอนสวด โดยเฉพาะนิทานประโลมโลก (เรื่องจักรๆวงศ์ๆ)