บทที่ 6 ภาษาไทยกับช่องทางการประกอบอาชีพ
ทดสอบหลังเรียน
2 of 2

ถ้อยคำสำนวน สุภาษิต คำพังเพย

1. ถ้อยคำภาษาไทยมีลักษณะพิเศษหลายประการ สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสม ในการสื่อสาร เพื่อความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน และตรงเป้าหมาย

2. ถ้อยคำภาษาไทยมีลักษณะเป็นศิลปะที่มีความประณีต สละสลวย ไพเราะ ลึกซึ้ง น่าคิด น่าฟัง รื่นหู จูงใจ และหากนำไปใช้ได้เหมาะกับข้อความเรื่องราวจะเพิ่มคุณค่าให้ข้อความหรือเรื่องราวเหล่านั้น มีน้ำหนักน่าคิด น่าฟัง น่าสนใจ น่าติดตามยิ่งขึ้น

3. ถ้อยคำภาษาไทย ถ้ารู้จักใช้ให้ถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคลนับว่าเป็นวัฒนธรรมอันดีงามของชาติและของผู้ปฎิบัติ

ถ้อยคำสำนวน

ถ้อยคำสำนวนหมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียง บางทีก็ใช้ว่าสำนวนโวหาร คำพูดของมนุษย์เราแยกออกไปอย่างกว้างๆ เป็น 2 อย่าง อย่างหนึ่งพูดตรงไปตรงมาตามภาษาธรรมดา พอพูดออกมาก็เข้าใจทันที อีกอย่างหนึ่งพูดเป็นเชิงไม่ตรงไปตรงมา แต่ให้มีความหมายในคำพูดนั้นๆ คนฟังเข้าใจความหมายทันที ถ้าคำพูดนั้นใชกันแพร่หลาย เช่นคำว่า “ปากหวาน” “ใจง่าย” แต่ถ้าไม่แพร่หลายคนฟังก็ไม่อาจเข้าใจทันที ต้องคิดจึงจะเข้าใจหรือบางทีคิดแล้วเข้าใจเป็นอย่างอื่นก็ได้หรือไม่เข้าใจเอาเลยก็ได้คำพูดเป็นเชิงนี้ 136 | ห น้า

เราเรียกว่า “สำนวน” การใช้ถ้อยคำที่เป็นสำนวนนั้น ใช้ในการเปรียบเทียบบ้าง เปรียบเปรยบ้าง พูดกระทบบ้าง พูดเล่นสนุกๆ บ้าง พูดเตือนสติให้ได้คิดบ้าง

สำนวนไทย หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงไว้ตายตัว เนื่องจากใช้กันมาจนแพร่หลายอยู่ตัวแล้ว จะตัดทอนหรือสลับที่ไม่ได้ เช่น สำนวนว่า “เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน”หมายความว่าทำงานชนิดที่ได้เงินเล็กน้อยก็เอา ถ้าเราเปลี่ยนเป็น “เก็บเงินใต้ถุนบ้าน” ซึ่งไม่ใช่สำนวนที่ใช้กัน คนฟังอาจไม่เข้าใจหรือเข้าใจเป็นอย่างอื่น เช่น เก็บเงินฝังไว้ใต้ถุนบ้าน

ลักษณะชองสำนวนไทย

1. สำนวนไทยมีลักษณะที่มีความหมายโดยนัย โดยปกติความหมายของคำมีอย่างน้อย 2 ประการ คือ

1.1 ความหมายโดยอรรถ ได้แก่ ความหมายพื้นฐานของคำนั้นๆ โดยตรงเช่นคำว่า “กิน”ความหมายพื้นฐานที่ทุกคนเข้าใจก็คืออาการที่นำอะไรเข้าปากเคี้ยวแล้วกลืนลงไปในคอ เช่น กินข้าว กินขนม เป็นต้น

1.2 ความหมายโดยนัย ได้แก่ การนำคำมาประกอบกันใช้ในความหมายที่เพิ่มจากพื้นฐานเช่น คำว่า

กินดิบ – ชนะโดยง่ายดาย

กินโต๊ะ – รุมทำร้าย

กินแถว – ถูกลงโทษทุกคนในพวกนั้น

กินปูร้อนท้อง – ทำอาการพิรุธขึ้นเอง

2. สำนวนไทยมีลักษณะมีความหมายเพื่อให้ตีความ มีลักษณะติชมหรือแสดงความเห็นอยู่ในตัว เช่น เกลือเป็นหนอน กินปูนร้อนท้อง ตกบันไดพลอยโจน งมเข็มในมหาสมุทร เป็นต้น

3. สำนวนไทย มีลักษณะเป็นความเปรียบเทียบหรือคำอุปมา เช่น ใจดำเหมือนอีกา เบาเหมือนปุยนุ่น รักเหมือนแก้วตา แข็งเหมือนเพชร เป็นต้น

4. สำนวนไทยมีลักษณะเป็นคำคมหรือคำกล่าว เช่น หน้าชื่นอกตรม หาเช้ากินค่ำ หน้าซื่อใจคด เป็นต้น

5. สำนวนไทย มีลักษณะเป็นโวหารมีเสียงสัมผัสคล้องจองกัน หรือบางทีก็ย้ำคำ เช่น ช้าวแดงแกงร้อน ขุ่นข้องหมองใจ จับมือถือแขน บนบานศาลกล่าว กินจุบกินจิบ ประจบประแจง ปากเปียกปากแฉะ อิ่มอกอิ่มใจ เป็นต้น

สุภาษิต หมายถึง คำกล่าวดี คำพูดที่ถือเป็นคติ เพื่ออบรมสั่งสอนให้ทำความดีละเว้นความชั่ว สุภาษิต ส่วนใหญ่มักเกิดจากหลักธรรมคำสอน นิทานชาดก เหตุการณ์หรือคำสั่งสอนของบุคคลสำคัญซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ เลื่อมใสของประชาชน ตัวอย่าง เช่น

ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์

หว่านพืชเช่นไร ย่อมได้ผลเช่นนั้น

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั้น

ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ฯลฯ

การนำสำนวน คำพังเพย สุภาษิตไปใช้ประกอบการถ่ายทอดความรู้ความคิดอารมณ์ความรู้สึกในชีวิตนั้น คนไทยเรานิยมนำไปใช้กันมาก ทั้งนี้เพราะสำนวน สุภาษิต คำพังเพย มีคุณค่าและความสำคัญ คือ

1. ใช้เป็นเครื่องมืออบรมสั่งสอน เยาวชนและบุคคลทั่วไปให้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบในด้านต่างๆ เช่น การพูด การถ่ายทอดวัฒนธรรม การศึกษาเล่าเรียน การคบเพื่อน ความรัก การครองเรือนและการดำเนินชีวิตด้านอื่นๆ

2. ถ้อยคำสำนวน คำพังเพย สุภาษิต สะท้อนให้เห็นสภาพการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน ในด้านสังคม การศึกษา การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ นิสัยใจคอและอื่นๆ

3. สะท้อนให้เห็นความเชื่อ ความคิด วิสัยทัศน์ของคนสมัยก่อน

4. การศึกษาสำนวน คำพังเพย สุภาษิต ช่วยให้มีความคิด ความรอบรู้ สามารถใช้ภาษาได้ดีและเหมาะสมกับโอกาส กาลเทศะและบุคคล กอปรทั้งเป็นการช่วยสืบทอดวัฒนธรรมทางภาษาไว้ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป