ทดสอบก่อนเรียน
บทที่ 1 การฟัง การดู
บทที่ 2 การพูด
บทที่ 3 การอ่าน
บทที่ 4 การเขียน
บทที่ 5 หลักการใช้ภาษา
1 of 2

การอ่านแปลความ ตีความ การขยายความจับใจความหรือสรุปความ

การอ่านแปลความ หมายถึงการแปลเรื่องราวเดิมให้ออกมาเป็นคำใหม่ ภาษาใหม่หรือแบบใหม่ ความมุ่งหมายของการแปลความอยู่ที่ความแม่นยำของภาษาใหม่ว่า ยังคงรักษาเนื้อหาและความสำคัญของเรื่องราวเดิมไว้ครบถ้วนหรือไม่ สำหรับการแปลความบทร้อยกรองเป็นร้อยแก้วหรือการถอดคำประพันธ์ร้อยกรองเป็นร้อยแก้วนั้น ควรอ่านข้อความและหาความหมายของศัพท์แล้วเรียบเรียงเนื้อเรื่องหรือเนื้อหาเป็นร้อยแก้วให้สละสลวย โดยที่เนื้อเรื่องหรือเนื้อหานั้นยังคงเดิมและครบถ้วน

การอ่านตีความ การอ่านตีความหรือการอ่านวินิจสารเป็นการอ่านอย่างพิจารณาถี่ถ้วนด้วยความเข้าใจเพื่อให้ได้ประโยชน์ หรือเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน จะเป็นการอ่านออกเสียงหรืออ่านในใจก็ได้ แต่จุดสำคัญอยู่ที่การใช้สติปัญญาตีความหมายของคำและข้อความ ทั้งหมดรวมทั้งสิ่งแวดล้อมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับข้อความที่อ่าน ดังนั้นจึงต้องอาศัยการใช้เหตุผลและความรอบคอบในการพิจารณาทั้งถ้อยคำและสิ่งแวดล้อมทั้งหมดที่ผู้อ่านจะตีความสารใดๆ ได้กว้างหรือแคบ ลึกหรือตื้นขนาดไหน ย่อมขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัวและความเฉียบแหลมของวิจารณญาณ เป็นการอ่านที่ผู้อ่านพยายามเข้าใจความหมายในสิ่งที่ผู้เขียนมิได้กล่าวไว้โดยตรง ผู้อ่านพยายามสรุปลงความเห็นจากรายละเอียดของเรื่องที่อ่าน

การอ่านขยายความ คือ การอธิบายเพิ่มเติมให้ละเอียดขึ้นภายหลังจากได้ตีความแล้ว ซึ่งอาจใช้วิธียกตัวอย่างประกอบหรือมีการอ้างอิงเปรียบเทียบเนื้อความให้กว้างขวางออกไปจนเป็นที่เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

ตัวอย่าง ความโศกเกิดจากความรัก ความกลัวเกิดจากความรัก ผู้ที่ละความรักเสียได้ก็ไม่โศกไม่กลัว (พุทธภาษิต)

ข้อความนี้ให้ข้อคิดว่า ความรักเป็นต้นเหตุให้เกิดความโศก และความกลัวถ้าตัดหรือละความรักได้ ทั้งความโศก ความกลัวก็ไม่มี

การอ่านจับใจความหรือสรุปความ คือ การอ่านที่มุ่งค้นหาสาระของเรื่องหรือของหนังสือแต่ละเล่มที่เป็นส่วนใจความสำคัญและส่วนขยายใจความสำคัญของเรื่อง

การอ่านและพิจารณานวนิยาย

คำว่า “นวนิยาย” (Novel) จัดเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่ง หมายถึง หนังสือที่เขียนเป็นร้อยแก้ว เล่าถึงชีวิตในด้านต่างๆ ของมนุษย์ เช่น ด้านความคิด ความประพฤติ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของมนุษย์ ชื่อคน หรือพฤติกรรมที่แสดงออกเป็นเรื่องสมมุติทั้งสิ้น นวนิยายแบ่งเป็น 6 ประเภท ดังนี้

1. นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เช่น ผู้ชนะสิบทิศ (อิงประวัติศาสตร์มอญ) ชูซีไทเฮา (อิงประวัติศาสตร์จีน) สี่แผ่นดิน (อิงประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ แผ่นดินรัชกาลที่ 5 -8) กระท่อมน้อยของลุงทอม(อิงประวัติศาสตร์อเมริกา)

2. นวนิยายวิทยาศาสตร์ คือ นวนิยายที่นำความมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ มาเขียนเป็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น เช่น กาเหว่าที่บางเพลง สตาร์วอร์(Star war) มนุษย์พระจันทร์ มนุษย์ล่องหน เป็นต้น

3. นวนิยายลึกลับ ฆาตกรรม นักสืบ สายลับ เช่น เรื่องเชอร์ลอกโฮม มฤตยูยอดรัก

4. นวนิยายเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ เช่น แม่นาคพระโขนง กระสือ ศีรษะมาร เป็นต้น

5. นวนิยายการเมือง คือ นวนนิยายที่นำความรู้ทางการเมืองการปกครองมาเขียนเป็นเนื้อเรื่อง เช่น ไผ่แดง ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เปาบุ้นจิ้น สามก๊ก สารวัตรใหญ่ เป็นต้น

6. นวนิยายด้านสังคมศาสตร์ คือ นวนิยายที่สะท้อนสภาพสังคม เช่น เรื่องเมียน้อย เสียดาย เพลิงบุญ เกมเกียรติยศ นางมาส เป็นต้น

https://www.youtube.com/watch?v=2d3vQ6n0x9Y